แนะนำแนวทางการเลือกประกัน

แนะนำแนวทางการเลือกประกัน

การที่เราจะเลือกสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้กับตัวเราเองนั้น ก็ต้องใช้หลักการและความพยายามในการตัดสินใจเลือกเป็นอย่างมากเลยหล่ะครับ เพราะบางสิ่งต้องเป็นการตัดสินใจที่ยิ่งใหญ่พอสมควรเลย เช่นเดียวกับการ “เลือกทำประกัน” ที่เราจะต้องดู เปรียบเทียบและตัดสินใจให้ดีก่อนจะทำ  วันนี้เราเลยอยากเป็นตัวช่วยของทุกๆ ท่านในการ “แนะนำแนวทางการเลือกประกัน” กันครับ จะเป็นอย่างไรกันบ้างนั้น… เราไปชมกันดีกว่าครับผม

ประกัน หรือ การประกันภัย (Insurance) คือ ทางเลือกหนึ่งที่สามารถช่วยบรรเทาความเดือดร้อนเมื่อเกิดความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินต่างๆ ที่ได้ทำประกันภัยไว้ ด้วยการเฉลี่ยหรือการกระจายความเสียหายไปยังสมาชิกที่ทำประกันภัย โดยมีบริษัทประกันภัยเป็นผู้ทำหน้าที่เก็บเบี้ยประกันและชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์ตามที่ระบุไว้ในสัญญา ซึ่งเมื่อมีการตกลงทำประกันภัยแล้ว มีผู้เกี่ยวข้องกับสัญญาประกันภัยอยู่ 3 ฝ่าย ได้แก่….

  • ผู้รับประกันภัย (Insurer) เป็นบริษัทประกันภัยที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันภัยอย่างถูกต้องตามกฎหมาย มีหน้าที่ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัยจากภัยที่เกิดขึ้นตามเงื่อนไขในสัญญา
  • ผู้เอาประกันภัย (Insured) หรือผู้ถือกรมธรรม์ (Policy Holder) เป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลก็ได้ มีหน้าที่ส่งเบี้ยประกันภัยให้แก่ผู้รับประกันภัยจนครบกำหนดตามที่ตกลงกันไว้ในสัญญา
  • ผู้รับผลประโยชน์ (Beneficiary) เป็นบุคคลที่ถูกระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันภัย ให้เป็นผู้ได้รับค่าสินไหมทดแทน ซึ่งผู้รับผลประโยชน์สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามความต้องการของผู้เอาประกันภัย

หลักกการเลือกประกันที่จะเหมาะกับเรา

เราสามารถพิจารณาเลือกประกันได้จาก 3 หัวข้อหลักๆ ได้ดังต่อไปนี้…

  • พิจารณารายได้ การทำประกันนั้นอาจถือเป็นหนึ่งในการออมทางเลือกที่หลายคนให้ความไว้วางใจ ที่นอกจากจะเป็นการเก็บเงินก้อนแล้ว ยังเป็นการรองรับความเสี่ยงที่ดีอีกด้วย แต่ทว่าหลายคนก็เลือกจะทำประกันที่มีวงเงินสูง ทำให้ต้องจ่ายเบื้ยประกันสูงตาม เราอาจมั่นใจกับการประกันภัยดังกล่าวในระยะสั้น ทว่าระยะยาวนั้นอาจก่อให้เกิดปัญหาทางการเงินได้ ประกันชีวิตที่เหมาะสมคือ 10-20% ของรายได้
  • พิจารณาความเสี่ยงในการทำงาน รวมไปถึงการเดินทางก็นับเป็นความเสี่ยงประการหนึ่ง หากทำงานใกล้บ้าน งานออฟฟิศ อาจใช้เป็นการทำประกันสุขภาพ ที่มีความเกี่ยวข้องกับออฟฟิศซินโดรม แต่ถ้าออกต่างจังหวัดบ่อย งานมีความเสี่ยงสูง ประกันอุบัติเหตุและประกันชีวิตอาจมีความสำคัญมากขึ้น
  • พิจารณาความเสี่ยงด้านสุขภาพ ซึ่งแม้ว่าจะดูแลสุขภาพดีแค่ไหนแต่ความเสี่ยงในโรคภัยก็ยังคงเป็นสิ่งที่ทุกคนไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ การทำประกันสุขภาพไว้ล่วงหน้าเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมสำหรับการแบ่งเบาความเสี่ยงที่อาจเกิดในอนาคต

ประโยชน์ที่ได้รับจากการทำประกันต่างๆ

  • ด้านการสร้างความมั่นคงให้กับชีวิตของผู้เอาประกันภัย การประกันชีวิตสามารถช่วยสร้างความมั่นคงของรายได้ให้แก่ผู้เอาประกันภัยได้ ในกรณีการทำประกันคุ้มครองการเจ็บป่วย หรือการประกันอุบัติเหตุ ผู้เอาประกันภัยจะได้เงินทดแทนเพื่อใช้ในการเลี้ยงชีพในกรณีทุพพลภาพโดยสิ้นเชิงได้
  • ด้านการให้ความคุ้มครอง การประกันชีวิตจะให้ประโยชน์ในด้านความคุ้มครอง กรณีที่ผู้เอาประกันภัยถึงแก่กรรม ผู้รับประกันภัยจะจ่ายเงินชดเชยให้ตามจำนวนเงินที่ระบุไว้ในสัญญาให้แก่ทายาทหรือผู้รับประโยชน์ของผู้เอาประกันภัย เพื่อให้ครอบครัวของผู้เอาประกันภัยมีเงินเลี้ยงชีพต่อไปโดยไม่ต้องพึ่งพาอาศัย
  • ด้านการออมทรัพย์ ลักษณะการออมของการทำประกันภัยนั้นจะเป็นในลักษณะแบบกึ่งบังคับ โดยผู้เอาประกันภัยจะต้องแบ่งรายได้ของตนส่วนหนึ่ง เพื่อนำมาชำระเบี้ยประกันภัยอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้เกิดการประหยัดเพื่อการออมทรัพย์
  • ได้สิทธิประโยชน์ทางภาษี ผู้ที่ทำประกันชีวิตก็สามารถนำเบี้ยประกันชีวิตมาใช้ในการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาท สำหรับแบบทั่วไป และ 200,000 บาทสำหรับแบบบำนาญ

และนี้ก็คือข้อมูลเพียงบางส่วนที่เราได้นำมาฝากทุกๆ ท่านกันในบทความข้างต้น คิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ที่เหมาะและดีกับผู้ที่กำลัง ลังเลในการทำประกันกันนะครับ